เรือนลาว ไทยทรงดำ หมู่ที่ 2
ประวัติความเป็นมา
“ ไทยทรงดำ ลาวโซ่ง หรือ ไทยโซ่ง ” หมายถึง กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มหนึ่งที่พูดภาษาไทย คนไทยเรียกชนกลุ่มนี้ว่า ลาว หรือ ลาวโซ่ง เพราะอพยพจากเมืองเดียนเบียนฟู อยู่ทางตอนเหนือของ ประเทศเวียดนาม ผ่านมายังประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
ผู้ไทนิยมแต่งกายด้วยสีดำ จึงเรียก ไทยทรงดำ ตามลักษณะเครื่องแต่งกาย ถิ่นฐานเดิมอยู่บริเวณ แคว้นสิบสองจุไทย อยู่ทางตอนเหนือประเทศเวียดนาม ส่วนคำว่า “ โซ่ง ” ที่เรียกกันสันนิษฐานเป็นคำที่มาจากคำว่า “ ซ่วง หรือ ทรง ” แปลว่า กางเกง ไทดำถูกกวาดต้อนและอพยพมาใน ประเทศไทย สมัยกรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
ไทยทรงดำ หรือ ลาวโซ่ง ถูกกวาดต้อนและอพยพเข้าสู่ประเทศไทย ๓ ครั้ง
ครั้งที่ ๑ พ.ศ. ๒๓๒๒ สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี สาเหตุของเจ้าเมืองเวียงจันทน์ หมิ่นพระบรมเดชานุภาพสมเด็จพระยามหากษัตริย์ศึก ยกกองทัพไปเวียงจันทน์ ได้รวบรวมครอบครัว ชาวเวียงจันทน์มาอยู่ในไทยพระเจ้ากรุงธนบุรี โปรดเกล้าให้สร้างบ้านเรือนอยู่ที่ จังหวัดสระบุรี จังหวัดราชบุรี และจังหวัดจันทบุรี
ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๓๓๕ สมัยรัชกาลที่ ๑ รวบรวมครอบครัว ลาวโซ่ง ลาวพวน ลาวเวียงมาประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง สาเหตุเมืองแถง เมืองพวน แข็งข้อต่อเมืองเวียงจันทน์ เจ้าเมืองเวียงจันทน์ยกกองทัพ ไปตีได้ ลาวโซ่ง ลาวพวน ลาวเวียง ลงมาถวายพระมหากษัตริย์ไทย ที่กรุงเทพฯ รัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้าให้ลาวเวียงไปอยู่ที่ จังหวัดสระบุรี ลาวพวนไปอยู่ที่ จังหวัดสุพรรณบุรี และลาวโซ่งมาอยู่ที่หมู่บ้านหนองเลา หรือ หนองลาว (หนองปรง) ตำบลหนองปรง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี
ครั้งที่ ๓ พ.ศ.๒๓๖๙ – ๒๓๗๑ สมัยรัชกาลที่ ๓ เจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ ก่อกบฏ ต่อประเทศสยาม สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ยกกองทัพไปปราบเมืองแถง ได้รวบรวมครอบครัวลาวโซ่งมาไว้ที่จังหวัดเพชรบุรี ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ ตำบลท่าแร้ง อำเภอบ้านแหลม แต่เนื่องจากลาวโซ่งอาศัยอยู่ที่ดอนน้ำท่วมไม่ถึง แต่บริเวณนั้นเป็นที่ลุ่มน้ำท่วมถึง ลาวโซ่งไม่เคยชินกับความอยู่แบบนี้ จึงอพยพมาในอำเภอเขาย้อย เพราะลักษณะภูมิประเทศคล้ายเมืองแถง มีทั้ง ป่า ภูเขา ลำห้วย จึงได้ตั้งบ้านเรือนหนาแน่น ที่สุด ที่ตำบลหนองปรง ตำบลห้วยท่าช้าง ตำบลทับคาง ลาวโซ่งรุ่นเก่ายังไม่ลืมถิ่นฐานบ้านเดิม มีความปรารถนาจะกลับไปบ้านเกิดของตน เมื่อเดินทางไปนานๆ มีคนเจ็บคนตายไปเรื่อยๆ หลายคน พวกลูกหลานไม่สามารถเดินทางต่อไปได้ เพราะไม่รู้ถิ่นฐานบ้านเกิดจึงตั้งหลักอาศัยอยู่บริเวณนั้น ได้แก่ จังหวัดพิจิตร พิษณุโลก สุโขทัย กำแพงเพชร เป็นต้น