โรงเรียนบ้านไร่โคก
โรงเรียนบ้านไร่โคก (อินทร์ประชาสรรค์) ที่ตั้ง 1 ตำบลไร่โคก อำเภอบ้านลาด จังหวัด
สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเพชรบุรี เขต 2 โทร 032-425428
โรงเรียนบ้านไร่โคก (อินทร์ประชาสรรค์) เปิดทำการสอนครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๒ เริ่มสอนเป็นปฐมฤกษ์ จัดตั้งเพียงชั้น ป. ๑ ก่อน นายวั่ง กรกุม ครูโรงเรียนวัดจันทารามฯ มาเป็นครูรักษาการแทนครูใหญ่ นักเรียนทั้งหมด ๕๒ คน ต่อมา พ.ศ. ๒๔๘๔ นักเรียนเพิ่มขึ้นถึงชั้น ป. ๓ นายวั่ง กรกุม ย้ายไปเป็นครูใหญ่โรงเรียนวัดท่าศาลาราม และนายเพชร สุขอร่าม ครูโรงเรียนวัดหัวนา มาเป็นครูใหญ่ ขณะนั้น มีครู ๒ คน นักเรียน ๗๘ คน พ.ศ. ๒๔๘๕ เพิ่มถึงชั้น ป.๔ มีนักเรียนเพิ่มขึ้น ๑๑๙ คน มีครู ๒ คน ต่อมาเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๗ ทางการให้ย้าย นายชุบ บุญลือ มาเป็นครูใหญ่ และให้นายเพชร สุขอร่าม ไปเป็นครูใหญ่โรงเรียนวัดหัวนา นายชุบ บุญลือ เห็นว่าสถานที่หลังใหม่ตั้งตั้งผ่านกลางสนาม จึงให้ย้ายไปตั้งทางทิศตะวันออก และเมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๙ นายชุบ บุญลือ พร้อมด้วยครูน้อย และนายน้อย บุญอยู่ ผู้ใหญ่บ้าน ได้รั้วโรงเรียนเฉพาะหลังใหม่ (ศาลาหลังไทย ๒ หลังเดิม ซึ่งเป็นศาลาสาธารณะไม่ได้รื้อถอน) และได้มาปลูกในที่ดินของ นายผวน – นางโน เอี่ยมอินทร์ ซึ่งได้มอบที่ดินมีเนื้อที่ ๒ ไร่ ๒ งาน ๙ ตารางวา ให้สร้างที่ทำการกว้าง ๔ x ๒๐ เมตร คณะครูและชาวบ้าน ได้เงินมาบำรุงการศึกษา ซึ่งนายขุนวิเทศ ดรุณการ ให้ปลูกเสร็จ เมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๙
วันที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๐ ทางโรงเรียนได้จัดจ้างช่างมาทำฝา เพดาน บานประตู หน้าต่าง บังลมให้ดี ได้รับเงินทางการศึกษาซ่อมแซมเป็นเงิน ๗,๐๐๐ บาท วันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๐๖ ทางการย้ายนายชุบ บุญลือ ไปอยู่โรงเรียนบ้านแหลมทอง และย้ายนายเพชร สุขอร่าม มาดำรงตำแหน่งครูใหญ่ และได้ร่วมกับคณะครูจัดเทพื้นคอนกรีต ๑๐ x ๒๒ เมตร สิ้นเงิน ๔,๐๒๘ บาท ทำรั้วลวดหนามรอบโรงเรียน ได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียน เมื่อเดือน มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๙ จากศาลาไร่โคก เป็นโรงเรียนบ้านไร่โคก(อินทร์ประชาสรรค์)
ปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ได้รับอนุมัติจากสภาตำบลต่อเติมใหม่ ต่ออาคารใหม่ กว้าง ๘ x ๓๒ เมตร รวมเงินต่อเติม ๑๐,๔๙๑ บาท ปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ได้เทพื้นเติมโดยใช้เงิน ๓,๒๑๗ บาท เมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้อนุมัติให้ก่อสร้างบ้านพักครู ๑ หลัง ขนาด ๒ ห้อง พร้อมด้วยส้วม ๑ ที่นั่ง จำนวน ๑ หลัง ตามแบบกรมสามัญศึกษา เป็นเงิน ๒๖,๕๐๐ บาท ก่อสร้างเสร็จ เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๖
ต่อมาหน่วยอนามัยอำเภอได้ขอจัดจ้างถังน้ำฝน จำนวน ๖ ลูก งบอนามัย ๗,๐๐๐ บาท ไม่พอ นายน้อย บุญอยู่ กำนันตำบลไร่โคก ได้ชักชวนชาวบ้าน และคณะครูบริจาค รวมเงินทั้งสิ้น ๑๒,๓๒๓ บาท จึงดำเนินการสร้างเสร็จ เมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๗
วันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๘ ทางสภาตำบล อนุมัติเงินให้ทำรั้วคอนกรีตยาว ๑๒๐ เมตร ประตูเหล็กยาว ๔ เมตร เป็นเงิน ๔๘,๐๐๐ บาท และสร้างเสร็จเรียบร้อย เมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้งบซ่อมแซมอาคารเรียนเป็นเงิน ๖๙,๐๐๐ บาท ตามคำสั่งขององค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบุรี ที่ ๕๓๑/๒๕๑๘ ต่อมาปี พ.ศ. ๒๕๒๑ ได้รับงบจัดสร้างอาคารเรียนแบบ ป.๑ข ขนาด ๑ ชั้น ๔ ห้องเรียน งบประมาณ ๓,๒๐๐,๐๐๐ บาท
ปี พ.ศ.๒๕๒๓ ได้รับงบประมาณสร้างส้วมแบบ ๔๐๑ ของกรมสามัญศึกษา จำนวน ๕ ที่นั่ง
ปี พ.ศ.๒๕๒๕ ได้งบประมาณก่อสร้างอาคารเรียนเอนกประสงค์ เป็นเงินงบประมาณ ๑๘๘,๐๐๐ บาท
ปี พ.ศ.๒๕๒๗ ได้งบประมาณก่อสร้างอาคารเรียนแบบ สปช.๑๐๓-๒๕๒๖ ขนาด ๑ ชั้น ๓ ห้องเรียน จำนวน ๑ หลัง เป็นเงินงบประมาณ ๔๙๕,๐๐๐ บาท
เมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๐ สำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดเพชรบุรี ได้แต่ตั้ง
นายธนาวุฒิ แก้วน้อย มาเป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนบ้านไร่โคก (อินทร์ประชาสรรค์) และในปีการศึกษา๒๕๔๐ ได้ทำการเปิดการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล ๓ ขวบ อนุบาล ๑ และอนุบาล ๒
ต่อมาปี พ.ศ. ๒๕๔๑ สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ ได้มีหนังสือแจ้งให้โรงเรียนงดเปิดรับเด็กอนุบาล ๓ ขวบ จึงเปิดสอนตั้งแต่ชั้น อนุบาล ๑ ถึง ป.๖ เท่านั้น
ปัจจุบันโรงเรียนบ้านไร่โคก(อินทร์ประชาสรรค์) ตั้งอยู่หมู่ที่ ๑ ตำบลไร่โคก อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเพชรบุรี ๒ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ เปิดการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล ๑ ถึง ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖
มีนักเรียนจำนวน ๖๕ คน ครู ๘ คน ช่างไม้ ๓ ๑ คน โดยมี นายวิเชียร นาคะเวช ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน คนปัจจุบัน
สภาพทั่วไป ลักษณะพื้นที่ เป็นที่ราบลุ่ม เหมาะสำหรับทำการเกษตรกรรม ประชาชนตั้งบ้านเรือนรวมกันเป็นหมู่บ้าน เป็นชุมชน ขนดเล็ก คนในชุมชนส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา ส่วนน้อยทำอาชีพทำไร่ รับจ้าง เลี้ยงสัตว์ และค้าขาย มีรายได้เฉลี่ยครอบครัวละ ๒๕,๐๐๐ บาท ต่อปี ประชาชนทั้งตำบลนับถือศาสนาพุทธ นิยมทำบุญ และทำนุบำรุงวัดให้สวยงาม มีขนบธรรมเนียมประเพณีเช่นเดียวกันกับพุทธศาสนิกชนทั่วไป เช่น ทำบุญตักบาตร เข้าพรรษา แห่เทียน ทอดกฐิน ทอดผ้าป่า ทำบุญตามวาระและเทศกาล แต่ประเพณีที่โดดเด่นและทำเป็นประจำของชุมชน ที่นี้ถือประเพณีทำบุญลานข้าวรับขวัญแม่โพสพ ซึ่งทางโรงเรียนจะต้องเข้าร่วมและมีการแสดงของนักเรียนเป็นประจำทุกปี ประชาชนกับวัด โรงเรียน มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันตลอดมา และสภาพความเป็นอยู่และฐานะยังยากจน ทำให้ระดับความเข้มแข็งของประชาชนมีค่อนข้างน้อยมาก